สาเหตุ…อาการปวดฟัน

สาเหตุ…อาการปวดฟัน

สาเหตุ…อาการปวดฟัน

สาเหตุหลักๆของอาการปวดฟัน

กำลังปวดฟันอยู่หรือเปล่า เพราะอาการปวดฟันเป็นหนึ่งในปัญหาทันตกรรมที่พบได้บ่อยที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง คุณหมอจำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ ซึ่งการวินิจฉัยอาการปวดฟันมีความท้าทายเพราะมีสาเหตุได้ตั้งแต่ฟันผุไปจนถึงโรคเหงือก

ฟันผุ

ฟันผุเป็นสาเหตุทั่วไปของอาการปวดฟัน เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียในปากทำปฏิกิริยาสลายน้ำตาลในเศษอาหารที่ค้างอยู่ ทำให้เกิดกรดซึ่งสามารถกัดกร่อนเคลือบฟันจนเป็นโพรง หรือรูได้ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา โพรงเหล่านี้อาจผุลึกลงไปถึงชั้นด้านในของฟัน หรือที่เรียกว่า ‘เนื้อฟัน’ คุณอาจเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อทานอาหารร้อนหรือเย็น รวมถึงอาหารที่มีรสหวานจัดๆ หากผุลึกถึงโพรงประสาทฟัน ถ้าอยากเก็บฟันไว้ ก็ต้อง รักษารากฟัน

ฟันแตก

ฟันแตก บิ่น หรือหัก มักเกิดจากอุบัติเหตุ หรือการกัดอะไรแข็งๆ รอยแตกอาจทำให้ฟันชั้นในที่บอบบาง หรือที่เรียกว่าเนื้อฟัน สัมผัสกับแบคทีเรีย และเศษอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดฟัน เสียวฟันได้

หากการแตกนั้นลึกจนเผยส่วนของเส้นประสาทในคลองรากฟันก็อาจทำให้ติดเชื้อ และก่อให้เกิดอาการปวดรุนแรงได้ ตัวเลือกในการรักษาฟันแตกคือการ อุด การ รักษารากฟัน และ ครอบฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรง

เหงือกอักเสบ

เหงือกอักเสบที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟัน มักเริ่มเป็นรุนแรง ซึ่งจะถูกเรียกว่าโรคปริทันต์อักเสบ

เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียในช่องปากสะสมก่อเป็นคราบจุลินทรีย์บนฟันและเหงือก หากไม่ถูกกำจัดออกด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างเหมาะสม คราบจุลินทรีย์ก็จะแข็งตัวเป็นหินปูน ก่อให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบของเหงือก เมื่อเป็นอยู่นานอาจทำให้เหงือกร่นเกิดเป็นช่อง เมื่อลุกลามจนถึงขั้นเป็นปริทันต์อักเสบ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียฟัน

อาการปวดฟันที่เกิดจากโรคเหงือกเกิดได้จากหลายปัจจัย การอักเสบทำให้เหงือกบวม มีเลือดออก และเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน การติดเชื้อในร่องเหงือกก็ทำให้ปวดได้เช่นกัน หากมีการแพร่กระจายเข้าสู่ส่วนของคลองรากฟัน นอกจากนี้เหงือกที่สุขภาพไม่ดีหรือเหงือกร่นทำให้ฟันโยก และอาจรู้สึกปวดฟันเมื่อเคี้ยวหรือกัดได้

ฟันคุด

ฟันคุดอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการปวดฟัน ฟันคุดเป็นฟันกรามซี่ที่สามซึ่งจะขึ้นอยู่ทางด้านในสุดของปาก โดยปกติจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ถึงวัยยี่สิบต้นๆ ในบางครั้งช่องปากอาจมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันกรามเหล่านี้โผล่ขึ้นมาอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการดันไปยังฟันซี่ข้างเคียง เหงือกเกิดอาการบวม อักเสบ และติดเชื้อในเนื้อเยื่อรอบๆ ฟัน ซึ่งนำไปสู่อาการปวดฟันได้ ความเจ็บปวดอาจเกิดเป็นพัก หรือเป็นๆ หายๆ สามารถรู้สึกได้ที่หลังปาก หรือแม้แต่ในหู

ในบางกรณีฟันคุดสามารถทำให้ฟันข้างเคียงได้รับความเสียหาย นำไปสู่ความเจ็บปวด และความรู้สึกไม่สบายเพิ่มเติม การรักษาฟันคุดที่ได้ผลคือการถอน หรือผ่าฟันคุด ซึ่งสามารถทำเพื่อป้องกัน หรือเมื่อเกิดการอักเสบและปวดฟันเกิดขึ้น

เศษอาหารติด

เศษอาหารติดแน่นในร่องเหงือก สามารถทำให้ปวดฟันได้ เกิดขึ้นเมื่อเศษอาหารที่ติดอยู่ระหว่างซอกฟันออกแรงกดที่เหงือกและฟันรอบๆ ซึ่งสามารถทำให้เหงือกบวม และปวดฟันได้ หากไม่นำเศษอาหารออกในทันทีก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อที่เหงือกตามมา

ภาวะเศษอาหารติดแน่นมักเกิดบ่อยขึ้นหากคุณมีฟันที่ซ้อนเก หรือเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างฟัน การ จัดฟัน สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นโรคเหงือกด้วยเช่นกัน

รากฟันอักเสบ

ปลายรากฟันอักเสบ เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อในฟันที่เรียกว่า pulp ซึ่งมีหลอดเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยง เกิดการอักเสบติดเชื้อ มักเป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาทันตกรรมอื่นๆ เช่น ฟันผุลึก ฟันที่แตก บิ่น ร้าวจากอุบัติเหตุ หรือภาวะนอนกัดฟัน

อาการปวดฟันที่เกิดขึ้นมักรุนแรง ในบางกรณีอาจปวดมากจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน นอกจากนั้นฟันยังไวต่ออุณหภูมิร้อนหรือเย็นมาก อาจมีบวมรอบๆ ฟันที่ได้รับผลกระทบ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำไปสู่ตุ่มหนองรอบปลายรากฟัน ซึ่งอาจทำให้อาการปวดฟันแย่ลงไปอีก และถึงขั้นสูญเสียฟันได้

นอนกัดฟัน

ภาวะนอนกัดฟัน มักเกิดขึ้นขณะหลับ หรือระหว่างรู้สึกเครียดเป็นกังวล แรงบดเคี้ยวที่รุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถทำให้ฟันสึก หรือแตกร้าวได้ นำไปสู่อาการเสียวฟัน และปวดฟันได้ คุณอาจรู้สึกเจ็บที่ฟัน ใบหน้า หรือขากรรไกร และอาการอาจแย่ลงในตอนเช้าเมื่อตื่นนอน 

หากไม่ได้รับการรักษา จะก่อให้เกิดโรคของข้อต่อขากรรไกร ซึ่งนอกจากปวดฟัน แล้วอาจทำให้เกิดปวดศีรษะเรื้อรัง โดยเฉพาะตรงบริเวณหน้าผาก และกกหู 

การรักษาภาวะนอนกัดฟันคือการใส่ เฝือกสบฟัน ขณะนอนหลับ และรักษาอาการเครียดวิตกกังวลด้วยเทคนิคคลายเครียด ในกรณีที่ฟันสึกรุนแรง อาจจำเป็นต้องบูรณะฟัน เช่น อุดฟัน หรือครอบฟัน เพื่อซ่อมแซมฟันที่เกิดความเสียหาย

ไซนัสอักเสบ

โพรงไซนัสอักเสบ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับช่องปาก ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดฟันได้เช่นกัน เนื่องจากโพรงไซนัสในแก้มทั้งสองข้างของจมูกอยู่ใกล้กับรากฟันบน โดยเฉพาะฟันซี่หลังๆ เมื่อไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อ ความดันที่สะสมในบริเวณนี้สามารถก่อให้เกิดอาการปวดฟันได้ ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติในช่องปาก

อาการอื่นๆ ของโพรงไซนัสอักเสบคือ ปวดศีรษะ ตึงเจ็บบริเวณโหนกแก้ม น้ำมูกไหลเรื้อรัง การรักษาโพรงไซนัสอักเสบคือการใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อจำกัดการติดเชื้อและการอักเสบ คุณหมอฟันมักปรึกษาคุณหมอ หู คอ จมูก ให้เข้ามาร่วมดูแลคุณด้วย

วิธีบรรเทาอาการปวดฟัน

  • บ้วนน้ำเกลือ น้ำเกลือมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้ออ่อนๆ ผสมเกลือครึ่งช้อนชาลงในน้ำอุ่น 1 แก้ว กลั้วปากทุก 1-2 ชั่วโมงได้
  • ประคบเย็น อุณหภูมิที่เย็นจัดสามารถทำให้เส้นเลือดในบริเวณที่ปวดหดตัว ใช้น้ำแข็งใส่ถุง หรือเจลเย็น ห่อด้วยผ้าบางๆ ประคบลงบนบริเวณที่ต้องการประมาณ 15-20 นาที ค
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol หรือ ibuprofen รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดได้

อย่าลืมว่าวิธีการด้านบนเป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้แก้ที่สาเหตุโดยตรง คุณยังควรเข้ามาพบคุณหมออยู่ดี

วิธีป้องกันอาการปวดฟัน

  • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ใช้เวลาแปรงอย่างน้อย 2 นาที
  • เลือกแปรงสีฟันแบบขนอ่อนนุ่ม ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสม
  • ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทาน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือรสเปรี้ยวมากๆ เพราะกรดสามารถทำลายเคลือบฟันของคุณได้
  • ดื่มน้ำมากๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น และชะล้างเศษอาหารที่ตกค้างอยู่
  • อย่าลืมทำความสะอาดลิ้นของคุณ ใช้ที่ขูดลิ้น หรือเแปรงสีฟันเพื่อกำจัดแบคทีเรียอย่างอ่อนโยน และทำให้ลมหายใจสดชื่นมากขึ้น
  • งดสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เหงือกอักเสบ สาเหตุสำคัญของอาการปวดฟัน
  • ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพ และขูดหินปูนทุก 6 เดือน

ปวดฟันอยู่หรือเปล่า จะทนปวดไปทำไม คุณหมอที่คาซ่า ช่วยได้ !!!!!

นัดตรวจฟันกับคุณหมอใจดี ที่นี่
ปรีกษาปัญหาเรื่องฟัน

คำถามถามที่พบบ่อย

Q : ต้องปวดฟันแค่ไหนถึงจะต้องไปพบทันตแพทย์ ?

A : เมื่อปวดฟันคุณควรไปพบคุณหมอทุกกรณี ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน เพราะคุณอาจสูญเสียฟันได้

Q : ปวดฟันไม่ต้องไปหาหมอได้ไหม หายเองได้ไหม ?

A : อาการปวดฟันจะหายไปเมื่อสาเหตุที่แท้จริงถูกกำจัดออกไป เช่นการปวดหรือเสียวฟันจะหายไปทันทีที่คุณรับประทานอาหารที่เย็นหรือหวานมากๆ เสร็จ ในทำนองเดียวกัน หากมีเศษอาหารมาติดอยู่ในระหว่างซี่ฟันของคุณ อาการปวดจะหายไปทันทีเมื่อคุณกำจัดเศษอาหารออก นอกจากนี้อาการปวดฟันที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้ออาจดีขึ้นหลังจากได้รับประทานยาแก้ปวด ถึงอย่างไรก็ควรมาพบคุณหมอ หากมีสิ่งผิดปกติ

 

ติดตามโปรโมชั่น Click!!

บทความน่าสนใจ

CASA Dental Clinic