FAQs

คำถามที่ถามบ่อย

01. ทำฟันใช้เวลานานไหม?
ทันตกรรมทั่วไป เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน จะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีโดยเฉลี่ย ในขณะที่ทันตกรรมเฉพาะทาง หรือ ทันตกรรมที่มีความซับซ้อน จะอยู่ระหว่าง 30 นาที - 1 ชั่วโมง
02. ปวดฟันมากทำอย่างไรดี ไปหาหมอฟันเลยได้ไหม?
หากคนไข้มีอาการปวดฟัน ต้องทานยาแก้ปวดเช่นพาราเซตามอล ให้หายปวดก่อน แล้วสามารถทำการนัดหมายพบหมอฟัน โดยเร็วที่สุด ให้คุณหมอวินิจฉัยอาการ จะดีที่สุดค่ะ
03. หาหมอฟัน แพงมากไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ราคาทันตกรรมไม่แพงอย่างที่คิด คลินิกเราเน้นให้บริการบนพื้นฐานความไว้วางใจ โดยปกติแล้ว คนไข้สามารถเข้ามาปรึกษาฟรีกับคุณหมอก่อนได้ หากมีการตรวจจะมีค่าบริการเพียง 50 บาท เป็นค่าปลอดเชื้อเครื่องมือ คนไข้สามารถตัดสินใจ ว่าจะทำหรือไม่ทำได้ โดยคุณหมอจะบอกถึงความเสี่ยงต่างๆ โดยละเอียด ทางคลินิกไม่มีนโยบายให้คนไข้รักษาโดยไม่จำเป็น คุณหมอจะแนะนำทางเลือกที่ดี และประหยัดที่สุดให้แก่คนไข้ ไม่ต้องห่วงนะ
04. ค่าปลอดเชื้อคืออะไร? ทำไมแต่ละคลินิกไม่เท่ากัน
ความสะอาด ความปลอดภัย ของคนไข้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทางคลินิกใช้เทคโนโลยี ที่ดีที่สุด เพื่อให้คนไข้สามารถมั่นใจได้ว่า อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเข้าไปในปากคนไข้นั้นมีความสะอาด และปลอดภัย สูงสุด โดยเฉพาะในภาวะ COVID-19 ด้วย ทางคลินิกจึงคิดค่าปลอดเชื้อของอุปกรณ์ ตามค่าใช้จ่ายจริง 50 บาท เพื่อความมั่นใจในคุณภาพการให้บริการแก่คนไข้
05. คลินิกรับประกันสังคมไหม?
ที่คลินิกรับประกันสังคมค่ะ เพียงนำบัตรประชาชนมาด้วยในวันนัดและ ตรวจเช็คสิทธิ์ประกันสังคมของท่าน หากมีสิทธฺิ์ ท่านจะสามารถใช้บริการ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายภายในงบ 900 บาทค่ะ หากมีส่วนเกินก็เพียงชำระส่วนเกินที่คลินิกค่ะ
06. หลังจาก “อุดฟัน” ต้องทำยังไง?
การอุดด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟัน สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ แต่ในการอุดฟันทุกชนิด ผู้รับบริการควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งๆมากๆ เช่น กระดูก เนื่องจากจะทำให้วัสดุอุดแตกได้
07. อาการแบบไหน? ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรไปหาหมอฟัน
1. ปวดหรือเสียวฟัน 2. ฟันสีเหลืองหรือมีคราบ 3. มีจุดแดงหรือจุดขาวกระจายอยู่บนเหงือก 4. ฟันโยกคลอนหรือหลุดออกจากกระดูกเบ้าฟัน 5. เหงือกบวมและเป็นหนอง
08. ทำไมต้องไปหาหมอฟันบ่อยด้วย สำคัญยังไง?
ปกติแนะนำมาพบทันตแพทย์ทุกๆ6เดือน เพื่อตรวจหาฟันผุที่อาจเกิดขึ้น และทำการขูดหินปูนรักษาเหงือกให้แข็งแรงเป็นประจำ
09. ควรพาลูกไปหาหมอฟันครั้งแรกเมื่อไหร่?
สามารถพาลูกมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก หรือช่วงที่ฟันน้ำนมของลูกเพิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ลูกมาทำฟันเสมอไป แต่เป็นการมาเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากของลูกว่ามีความผิดปกติไหม เพื่อให้ทันตแพทย์แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพฟันที่ถูกต้อง และเป็นการปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีตั้งแต่เด็กๆ
10. ลักษณะฟันแบบไหนที่ควรจัดฟัน?
ประเด็นหลักของการจัดฟัน คือแก้ไขปัญหาการสบฟันในแบบต่าง ๆ เช่น ฟันเก ฟันยื่น ฟันห่าง และฟันคร่อมจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ออกเสียงพูดไม่ชัด โดยเฉพาะวัยกลางคนมีอุปสรรคต่อการทำความสะอาดฟันและช่องปาก รวมถึงมีลักษณะฟันที่ทำให้ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม การรักษาโดยการจัดฟันก็เหมาะสมค่ะ ส่วนกำไรที่ได้เพิ่มตามมาคือ มองดูรูปหน้าสวยดูดี แต่ขอบอกเลยนะคะ ว่าจัดฟันไม่ได้ช่วยปรับรูปหน้าถาวร แต่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้ดูเหมือนหน้าเรียวขึ้นเฉย ๆ ค่ะ
11. ทำไมต้องใส่รีเทนเนอร์หลังจากจัดฟันเสร็จ?
รีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์สำหรับใส่หลังจัดฟัน เพื่อคงสภาพฟัน ไม่ให้ฟันที่ผ่านการจัดแล้วเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม ผู้ที่ถอดเครื่องมือจัดฟันออกแล้ว ต้องใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของทันตแพทย์ หากไม่ปฏิบัติตาม ก็มีโอกาสฟันล้ม ฟันเก หรือฟันห่างได้ ซึ่งเท่ากับว่าการจัดฟันที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า และต้องกลับไปจัดฟันใหม่อีกรอบนั่นเอง
12. ถ้าพบว่ามีฟันคุดมานานแล้ว แต่เพิ่งมีอาการปวดหรือบวม สามารถผ่าออกเลยได้หรือไม่?
ถ้ามีอาการปวด หรือบวม สามาถถอนฟัน หรือผ่าฟันคุดได้ค่ะ แต่อาจจะมีความรู้สึกอยู่บ้างขณะถอนเนื่องจากหนองจากการติดเชื้อทำให้ยาชาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งทันตแพทย์อาจปรับการฉีดยาชาแบบสกัดความรู้สึกเฉพาะที่เป็นการฉีดยาชาแบบสกัดเส้นประสาทแทน ทั้งนี้คนไข้ที่มีการติดเชื้อลุกลามรุนแรงมีโรคทางระบบ ทันตแพทย์อาจจ่ายยาฆ่าเชื้อและยาแก้ปวดให้คนไข้กลับไปก่อนเพื่อลดการติดเชื้อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นก่อน หรือเพื่อประวิงเวลาให้คนไข้ไปปรึกษากับแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับโรคที่คนไข้เป็น ข้อพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับคนไข้ที่มีการติดเชื้อลุกลามรุนแรงหรือมีโรคทางระบบ การจ่ายยาฆ่าเชื้อก่อนทำหัตถการอาจมีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบริเวณอื่น
13. หลังอุดฟัน ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
กรณีอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (คอมโพสิต เรซิน) 1. สามารถบดเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันได้เลย ภายหลังการอุดฟัน 2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง กรอบ หรือเหนียวจัด เช่น กระดูกอ่อน ก้อนน้ำแข็ง 3. ควรทำความสะอาดซอกฟันด้วยการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะกรณีอุดฟันหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสีไปอย่างรวดเร็วจากการสะสมของคราบอาหาร 4. ควรงดอาหารประเภท ชา กาแฟ ช็อกโกแลต รวมทั้งการสูบบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสีไปอย่างรวดเร็ว
14. หลังถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
1. กัดผ้าก๊อซให้นิ่งบริเวณแผล นาน 30 – 60 นาที หลังจากการถอนฟัน หรือผ่าตัด แล้วคายผ้าทิ้ง 2. ใน 48 – 72 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดใช้น้ำแข็งห่อประคบนอกปาก บริเวณที่ถอนฟัน หรือบริเวณที่ผ่าตัด 3. งดการกลั้วปากแรงๆ ใน 24 ชั่วโมงแรก จากนั้นใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำเกลืออุ่นๆ (น้ำอุ่น 1 ถ้วยผสมกับน้ำเกลือ ครึ่งช้อนชา) บ้วนเบาๆ โดยเฉพาะภายหลังรับประทานอาหาร 4. แปรงฟันทำความสะอาดในช่องปากตามปกติ เพียงแต่ระวังแผลที่ถอนฟัน หรือผ่าตัด 5. หากมีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ครั้งละ 1 เม็ด (เวลาห่างกัน 6 ชั่วโมง) หรือทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง 6. ไม่ใช้นิ้วมือ ไม้จิ้มฟัน แคะบริเวณแผล และไม่ควรดูดแผลเล่น 7. ทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ งดการออกกำลังกายหนักหน่วง ในช่วง 2 - 3 วันแรก 8. งดสุรา ของมึนเมา และ/ หรืองดสูบบุหรี่ 5 - 7 วันหลังการผ่าตัด 9. รับประทานอาหารอ่อน นิ่ม 5 – 7 วัน เลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด เย็นจัด และของหยาบแข็ง 10. หากได้รับการเย็บแผลให้กลับมาตัดไหม ภายหลังจากการถอนฟัน หรือทำผ่าตัดแล้ว ประมาณ 7 – 14 วัน 11. หากมีอาการ หรือรู้สึกผิดปกติ สามารถแจ้งทางคลินิกได้ทันที
15. ขูดหินปูนแล้วมีอาการเสียวฟันเป็นเรื่องปกติไหม?
การขูดหินปูนอาจมีอาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้ปกติ แต่ต้องมีอาการเสียวฟันเพียงเล็กน้อยหากเสียวฟันมากทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาชาเฉพาะที่ สำหรับอาการเสียวฟันจากการขูดหินปูนเกิดจากหินปูนที่หุ้มรากฟันอยู่จะถูกกำจัดออกไปทำให้ไม่มีอะไรมาปิดหุ้มเนื้อฟันไว้ ส่งผลให้ประสาทรับรู้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียวฟันได้

มีข้อสงสัย ถามคุณหมอได้เลย!!

ถามมานะ เราอยากคุย