ทำไมต้องรักษารากฟัน?
การรักษารากฟัน คือ การกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟันที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบ ร่วมกับการทำความสะอาดในคลองรากฟันให้ปราศจากเชื้อโรค จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันเพื่อความแข็งแรงและสวยงามให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
สาเหตุที่ต้องรักษารากฟัน
ส่วนใหญ่เป็นฟันที่ผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันร้าว แตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน และฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันได้ คนไข้มักมีอาการปวดฟันขึ้นมาเอง อาจปวดแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ หรือทำให้ต้องตื่นเนื่องจากปวดฟันมาก หรือมีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น รู้สึกเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร บางครั้งอาจพบว่าฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ หรือมีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง หรือบวมบริเวณใบหน้าได้
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
- เริ่มแรกคุณหมอจะใส่ยาชาเพื่อป้องการอาการปวดหรือเสียวฟันขณะทำการรักษา และใส่แผ่นยางกันน้ำลาย
- จากนั้นจะกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออก ร่วมกับการล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ
- คุณหมอจะใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟันทิ้งไว้ และเมื่อฟันมีอาการที่ปกติแล้วจะทำการอุดคลองรากฟันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามาอาศัยได้อีก
- หลังจากนั้นจึงทำการบูรณะตัวฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
โดยปกติจะใช้เวลาการรักษาประมาณ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและสภาพการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่ ซึ่งหลังการรักษาในแต่ละครั้งตนไข้อาจมีอาการปวดได้บ้าง ประมาณ 1-3 วันแรก แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการปวดเป็นมากขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์ และไม่ควรใช้ฟันกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งถ้าหากว่ายังไม่ได้บูรณะตัวฟันให้แข็งแรง เพราะอาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้
อาการหลังรักษารากฟัน
ภายหลังการรักษารากฟัน ควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ควรระมัดระวังในการใช้งานซี่ฟันที่รักษารากฟันงดเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน อาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้
- ในกรณีที่วัสดุอุดฟันชั่วคราวเกิดหลุด ให้กลับมาพบทันตแพทย์ทันที
- ควรมาตามนัดแพทย์ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงถอนฟันซี่นั้นออกในอนาคตหากละเลย